
'The Cider House Rules'
ภาพยนตร์ชีวิตชวนฉุกคิด
เรื่องการยุติการตั้งครรภ์
‘I’m the best’
คือประโยคบอกเล่าง่ายๆ ที่ใช้อวดอ้างสรรพคุณส่วนตัวของเด็กกำพร้าคนหนึ่ง ซึ่งเติบโตมาในเซนต์คลาวด์ (St. Cloud) สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าแถบชนบทของรัฐเมน เขตนิวอิงแลนด์ (New England) ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศสหรัฐอเมริกา หนึ่งในฉากหลังสำคัญของ ‘The Cider House Rules’ ภาพยนตร์น้ำดีที่ออกฉายในปี ค.ศ.1999 โดยไม่เพียงแต่ในหนังเท่านั้น ประโยคที่ว่านี้ยังสะท้อนบทชีวิตอันน่าเศร้าของเด็กจำนวนหนึ่ง ที่พลาดเกิดมาลืมตาดูโลกท่ามกลางความไม่พร้อมของคนเป็นพ่อและแม่ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในโลกแห่งความเป็นจริง

The Cider House Rules คว้ารางวัลออสการ์ประจำปีเดียวกันกับที่ภาพยนตร์ออกฉาย โดยได้ไปครองทั้งหมด 2 รางวัล ในฐานะที่มีองค์ประกอบดีที่สุด 2 อย่าง คือ บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม (Best Adapted Screenplay) ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากนวนิยายในชื่อเดียวกัน และนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (Best Actor in a Supporting Role) จากฝีมือการแสดงสุดแนบเนียนของ Michael Caine ผู้รับบท หมอวิลเบอร์ ลาร์ช (Dr. Wilbur Larch) หมอใหญ่ที่ควบตำแหน่งผู้อำนวยการบ้านเด็กกำพร้า และอุทิศตนทำงานหนัก หวังผลักดันชีวิตที่ดูเหมือนไร้อนาคตของเหล่าเด็กกำพร้า ให้กลับมาดำเนินตามแสงสว่าง อย่างที่ ‘พ่อจำเป็น’ ปูทางไว้ให้ โดยบทบาทหมอผู้มากด้วยเมตตานี้ ยังถูกนำไปใช้ให้ความช่วยเหลือหญิงจำนวนมากที่เดินทางมายังเซนต์คลาวด์ เพื่อยุติการตั้งครรภ์

การยุติการตั้งครรภ์ หรือ การทำแท้ง คือหนึ่งในประเด็นหลัก ที่มีการถกเถียงกันใน The Cider House Rules อย่างชวนฉุกคิด ผ่านความเห็นต่างของสองตัวละครหลัก คือ หมอลาร์ช และ โฮเมอร์ เวลส์ (Homer Wells) เด็กกำพร้าหนุ่มที่เติบโตมาภายใต้การเลี้ยงดู เสมือนเป็นงานศิลปะชิ้นเอกของหมอใหญ่ประจำบ้าน โดยหมอลาร์ชเฝ้าบ่มเพาะและถ่ายทอดความรู้ด้านการแพทย์ รวมถึงวิธียุติการตั้งครรภ์อย่างถูกต้องให้โฮเมอร์ เพื่อปั้นให้เด็กหนุ่มรับหน้าที่ดูแลสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งนี้ต่อ ในวันที่เขาเองไม่สามารถทำหน้าที่นี้ต่อได้
แต่โฮเมอร์ไม่เห็นด้วยกับการทำแท้ง และปฏิเสธที่จะช่วยเหลือแม่ที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมด้วยวิธีดังกล่าวมาโดยตลอด สิ่งเดียวที่เขายินดีทำคือ การรักษาผู้ป่วยที่มาใช้บริการที่เซนต์คลาวด์บ้างเป็นครั้งคราว รวมถึงดูแลผู้ป่วยที่บาดเจ็บจากการทำแท้งเถื่อน ซึ่งมักโซซัดโซเซมาขอความช่วยเหลือจากหมอบ้านนี้เป็นประจำ ถึงกระนั้น โฮเมอร์ก็ไม่เคยเรียกตัวเองว่า ‘หมอ’ เลยแม้แต่ครั้งเดียว

“โฮเมอร์ ถ้าเธอหวังให้พวกเขารับผิดชอบ เธอต้องให้พวกเขาตัดสินใจด้วยว่าจะมีลูกหรือไม่”
ประโยคสะท้อนความรู้สึกเหลืออดจากหัวอกคนเป็นแพทย์ เมื่อหมอลาร์ชต้องลงมือทำพิธีศพให้เด็กสาวคนหนึ่ง ซึ่งเสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์ผิดวิธี โดยฝีมือหมอเถื่อนที่ไม่รู้ที่มา “ถ้า 4 เดือนก่อน ผู้หญิงคนนี้มาให้เธอทำแท้ง เธอคงไม่ทำใช่ไหม…และนี่คือผลของการไม่ทำ จึงมีไอ้โง่ที่ไหนสักคนซึ่งทำไม่เป็น มาทำให้”
หมอใหญ่ระบายอารมณ์กับโฮเมอร์ด้วยเห็นว่าผลของการไม่ยอมรับการยุติการตั้งครรภ์อย่างถูกวิธีให้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม สุดท้าย หากไม่เกิดเหตุการณ์น่าเศร้าลักษณะนี้ เด็กที่เกิดมาคงไม่พ้นต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า นั่งรอโอกาสในการอวดอ้างสรรพคุณ ‘I’m the best’ ให้ผู้ใจบุญเห็นใจและรับไปดูแล อย่างที่เด็กๆ ในเซนต์คลาวด์เฝ้าทำเป็นประจำ ขณะที่โฮเมอร์กลับมีความเห็นว่า วิธีที่ช่วยยุติปัญหาการท้องไม่พร้อม หรือการกระทำอันผิดศีลธรรมและผิดกฎที่สังคมเป็นผู้ตีกรอบไว้ ควรมาจาก ‘การคุมกำเนิด’ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบที่พ่อแม่ของเด็กซึ่งถูกทำแท้งควรกระทำ

ผิดหรือถูก...ใครคือคนกำหนด
เมื่อผู้ใช้กฎไม่ได้เป็นคนตั้งกฎเอง
The Cider House Rules ยังใช้ประเด็นเรื่อง ‘ความรัก’ ตั้งคำถามกับการมีอยู่ของกฎต่างๆ ในสังคมอีกด้วย เริ่มที่ความรักของโฮเมอร์ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อเด็กหนุ่มตัดสินใจเดินทางออกจากสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าอันห่างไกล สู่ตัวเมืองอย่างไร้จุดหมาย พร้อมกับวอลลี่ เวิร์ททิงตัน (Wally Worthington) ผู้กองหนุ่มที่พา แคนดี้ (Candy) คู่รักสาวขี้เหงามายุติการตั้งครรภ์ขณะท้องได้ 2 เดือน วอลลี่เสนอให้เขาไปทำงานที่ไร่แอปเปิลของครอบครัว ซึ่งมีทีมคนงานผู้อพยพผิวสีเป็นหัวเรือคุมการเก็บเกี่ยวผลิตอยู่แล้ว โดยหวังให้โฮเมอร์ช่วยดูแลแม่และคนรักอีกแรง ในระหว่างที่ตัวเขาเองถูกเรียกตัวไปราชการ

นอกจากจะสนุกสนานกับการเรียนรู้งานใหม่ๆ ในไร่แอปเปิลแล้ว ความฉลาดและช่างรู้ของโฮเมอร์ ก็ทำให้เขาสนิทสนมกับสาวขี้เหงาอย่างแคนดี้ได้ไม่ยาก โดยเธอเทียวมารับเด็กหนุ่มออกไปผจญโลกที่เขาไม่เคยสัมผัสอยู่เป็นประจำ จนกลุ่มคนงานซึ่งมีมิสเตอร์โรส (Mr. Rose) และโรส โรส (Rose Rose) ลูกสาวสุดรัก เป็นผู้นำทีมจับสังเกตได้ว่า หนุ่มหัวอ่อนต่อโลกอาจกำลังทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจที่วอลลี่มอบให้ ในขณะที่โฮเมอร์เอง แม้จะรู้ดีว่าการกระทำที่ถลำลึกลงเรื่อยๆ เป็นเรื่องผิดศีลธรรม แต่ก็ไม่อาจห้ามใจตัวเองได้ แคนดี้ก็เช่นกัน

ภาพยนตร์ตั้งคำถามย้ำต่อความศักดิ์สิทธิ์ของกฎ ที่คอยคานน้ำหนักกับความรักที่ต้องหลบซ่อนของคนทั้งสอง ด้วยฉากถกเถียงเรื่องกฎการอยู่อาศัยในบ้านพักคนงาน ของไร่แอปเปิล ซึ่งติดอยู่บนฝาผนัง โดยไม่มีใครในบ้านพักรู้ความหมาย เพราะไม่มีคนงานคนใดเลยที่สามารถอ่านออกเขียนได้ แต่ความไม่รู้ยังไม่สำคัญเท่ากับความคิดของพวกเขาที่เชื่อเป็นทุนเดิมอยู่แล้วว่า ‘ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องเคารพกฎที่ตัวเองไม่ได้เป็นคนกำหนดขึ้น เพราะไม่มีวันที่คนตั้งกฎจะเข้าใจคนที่ต้องทำตามกติกาได้อย่างแท้จริง’
ศีลธรรมอันดีที่คอยตีกรอบความรักของโฮเมอร์และเเคนดี้ก็เช่นกัน ในที่สุดก็ไม่อาจกำกับชีวิตรักของผู้ใช้กฎอย่างคนทั้งสองได้ เพราะทั้งคู่เลือกที่จะฉีกมันเพื่อความสุขส่วนตัว แต่ข้อดีของศีลธรรมในเเง่ที่ทำให้คนเรารู้สึกละอายต่อการทำเรื่องไม่เหมาะสม ก็ยังพอมีประโยชน์อยู่บ้าง สะท้อนได้จากการที่เด็กหนุ่มและหญิงสาวยังคงเก็บงำความสัมพันธ์อันลึกซึ้งนี้ไว้ เป็นเรื่องที่รู้กันเพียง 2 คน

บทเรียนท้าทายศีลธรรมในใจโฮเมอร์
เมื่อฤดูเก็บเกี่ยวแอปเปิลเวียนมาถึง ทีมคนงานกลับมายังไร่ของครอบครัวเวิร์ททิงตันอีกครั้ง หลังเดินสายไปทำงานที่อื่น พร้อมข่าวร้ายที่ทุกคนในทีมรู้ดีแต่ไม่ใครอยากยุ่ง นั่นคือ การตั้งครรภ์ของโรส โรส ซึ่งโฮเมอร์จับสังเกตได้ทันทีที่เห็นอาการคล้ายคนแพ้ท้องของเธอ แต่ที่ร้ายกว่าคือ ทีมเก็บแอปเปิลต่างรู้กันดีว่า เด็กในครรภ์เกิดจากความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างเธอกับมิสเตอร์โรส ผู้เป็นพ่อ
“ไม่ว่าเธอจะเลือกอะไร ฉันก็ช่วยได้ทั้งนั้น” โฮเมอร์ยื่นข้อเสนอให้โรส โรส เมื่อตัวเองเริ่มสัมผัสได้ถึงความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจ ของคุณแม่ที่ท้องไม่พร้อมมากขึ้นเรื่อยๆ และแล้ว การยุติการตั้งครรภ์ในบ้านพักคนงานของไร่แอปเปิลก็เกิดขึ้น ในคืนที่มิสเตอร์โรส ผู้เป็นพ่อของแม่เด็ก และเป็นพ่อของเด็กในท้อง ทรมานใจมากที่สุดในชีวิต

ภาพยนตร์ The Cider House Rules ไม่ได้เผยอย่างชัดเจน ว่าท้ายที่สุด การกลับมาสวมบทบาทคุณหมอจำเป็นอีกครั้งของ โฮเมอร์ เพื่อช่วยยุติการตั้งครรภ์ให้คุณแม่ที่ท้องไม่พร้อมเป็นครั้งแรก ด้วยความรู้สึกเห็นใจโรส โรส อย่างสุดซึ้ง ทำให้เขาปลดล็อคทางความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่หมอลาร์ช พยายามให้เหตุผลเกี่ยวกับการทำแท้งมาตลอดทั้งชีวิตหรือไม่ แต่ทิ้งให้ผู้ชมคิดตามต่ออย่างแยบยล พร้อมหาคำตอบด้วยตัวเอง ว่า ศีลธรรมอันดีตามความคิดของคนหมู่มาก กฎระเบียบที่เป็นกรอบการใช้ชีวิตของคนในสังคม และการยุติการตั้งครรภ์ แท้จริงแล้ว...มีผลสัมฤทธิ์ในแง่ของการนำไปปรับใช้จริงมากน้อยเพียงใด
แต่คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ทั้งกฎและศีลธรรม ล้วนมีส่วนสร้างสังคมให้น่าอยู่ และเป็นไปตามร่องรอยที่คนส่วนใหญ่คาดหวังไว้ หรือไม่จริง?